วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สมุนไพรพลูคาว ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านไวรัส HIV ได้จริงหรือ

"พลูคาว"เมื่อเอ่ยถึงพืชชนิดนี้คนทั่ว ๆ ไปอาจไม่คุ้นนัก ยกเว้นคนภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน เพราะพลูคาวเป็นพืชประจำถิ่น พบมากในแถบภาคเหนือแและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน คนภาคเหนือรู้จักนำพลูคาวมาใช้ประโยชน์เป็นเวลาช้านาน โดยนิยมนำใบมาเป็นเครื่องเคียงอาหารสด ๆ เช่น ลาบ ซ่า ก้อย ซกเล็ก หรือขนมจีนเป็นต้น นอกจากนี้หมอแผนโบราณยังใช้พลูคาวมารักษาผู้ป่วยโรคริดสีดวงอีกด้วย  ทั้งนี้จากผลการวิจัยพบว่าคนภาคเหนือมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งน้อยกว่าคนภาคอื่น ๆ เพราะรับประทานพลูคาวเป็นเครื่องเคียงอาหารหลักเป็นประจำนั่นเอง

พลูคาว หรือชื่อ อื่นๆ คาวตอง(ลำปาง,อุดร)คาวทอง(มุกดาหาร,อุตรดิตถ์)ผักก้านตอง(แม่ฮ่องสอน)ผัก เข้าตอง,ผักคาวตอง,ผักคาวปลา(ภาคเหนือ)พลูคาว(ภาคกลาง)เป็นไม้เลื้อยล้มลุก เป็นพืชตระกูลเดียวกับพลู แต่อายุอยู่ได้หลายปี ขึ้นอยู่ตามแถวภาคเหนือ ลำต้นจะเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน รากแตกออกตามข้อ ทั้งต้นมีกลิ่นคาวอย่างรุนแรง คล้ายปลาช่อน การขยายพันธุ์โดยปักชำ ชอบขึ้นตามริมห้วยหรือที่ชื้นแฉะริมน้ำมีร่มเงาเล็กน้อยในสภาพอากาศที่เย็น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปทรงคล้ายรูปหัวใจกว้าง โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบ มีก้านใบยาว ใต้ใบจะมีสีแดงอ่อนถึงสีแดงเข้ม โคนก้านแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกบานมีใบประดับที่โคนดอกสีขาว 4 กลีบ แต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก อัดกันแน่นเป็นแท่งทรงกระบอกสีจะออกเหลืองอ่อน ผล เป็นผลแห้งแตกได้

จากข้อสังเกตุว่า จำนวนประชากรในภาคเหนือเป็น “โรคมะเร็ง” ค่อนข้างน้อย เนื่องจากบริโภคพลูคาวเป็นประจำ และหมอแผนโบราณเคยใช้พลูคาวมารักษาผู้ป่วยริดสีดวงทวาร ทำให้หายเจ็บปวดโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด ทำให้คณะนักวิจัยซึ่ง ประกอบด้วย รศ.มณเฑียร เปสี,ศ.น.พ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี,รศ.น.พ.สุขชาติ เกิดผล,ผศ.ดร.วิจิตร เกิดผล และผศ.ดุษฎี มุสิกโปดก คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น สนใจที่จะศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้พลูคาวรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

เบื้องต้นคณะนักวิจัยได้นำพลูคาวจากแปลงเกษตรอินทรีย์ที่สวนดอยหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกพลูคาวตามระบบเกษตรอินทรีย์กว่า 30 ไร่ มาวิจัยและทดลองผลิตเป็นยาน้ำสมุนไพรบำรุงร่างกาย โดยผ่านกรรมวิธีการหมักและผสมผสานระหว่างศาสตร์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม กับเทคโน โลยีชีวภาพ (NanoTechnology) ใช้สมุนไพรพลูคาวเป็นสารตั้งต้น

ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยยังได้ทราบข้อเท็จจริงว่า สีแดงที่อยู่ใต้ใบพลูคาวเป็นตัวชี้วัดว่ามีเภสัชสาร ซึ่งเป็นสารเฮลตีแบคทีเรีย มีจุลินทรีย์และแลคโตบาซิลลัสสายพันธุ์หนึ่ง ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ให้ทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถไปยับยั้งการเจริญเติบโตและต้านทานเนื้องอก (Anti-tumor) และช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้ค่อนข้างดี

หลังจากที่สกัดเป็น ยาน้ำ และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว ได้นำยามาทดลองในผู้ป่วยมะเร็ง 5 ชนิด คือ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปากมดลูก เนื้องอกบริเวณสมอง และเนื้องอกของ Soft tissue sarcoma โดยให้ผู้ป่วยดื่มบำรุงร่างกาย และใช้ร่วมกับการรักษาของคณะแพทย์โดยการฉายรังสี ปรากฏว่า สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วยมะเร็งได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้นทำให้อาการของผู้ป่วยดี ขึ้นและยืดอายุของผู้ป่วยได้นานขึ้นด้วย ซึ่งดีกว่าการรักษาด้วยการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพลูคาว คือ

ฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็ง 5 ชนิด คือ เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งรังไข่ เซลล์เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย เซลล์มะเร็งสมอง เซลล์มะเร็งลำไส้ เซลล์มะเร็งเต้านม

ฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส กระตุ้นเซลล์เพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันไข้ทรพิษ หัด หัดเยอรมัน การติตชื้อในระบบทางเดินหายใจ ต้านเชื้อไวรัส  HIV งูสวัด โรคผิวหนัง

ฤทธิ์การต้านเชื้อราและแบคทีเรีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา ทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติตเชื้อทางเดินหายใจ โรคทางเดินอาหาร โรคปริทนต์ โรคระบบสืบพันธุ์ กลาก เกลื้อน  โรคติตเชื้อในช่องปาก

ฤทธิ์ต้านการอักเสบต่าง ๆ ยับยั้งเอนไซม์เป็นบ่อเกิดของการอักเสบ หรือโรคที่มีการอักเสบ

ฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขยายหลอดเลือด ทำให้อัตราการไหลเวียนของเลือด และการขับปัสสาวะดีขึ้น ลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

ฤทธิ์อื่น ๆ เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานโรค ยับยั้งเนื้องอก กระตุ้นเซลล์น้ำเหลือง รักษาสมดุลของร่างกาย และอื่น ๆ

จากประสิทธิภาพของ พลูคาวที่ผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศเริ่มยอมรับ และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้ขณะนี้มีคณะแพทย์และเภสัชกรจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มหันมาสนใจที่จะศึกษาวิจัยสมุนไพรพลูคาวเพิ่มเติม รวมกว่า 10 โครงการวิจัย เพื่อเป็นความหวังและต่ออายุให้กับผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต

พลูคาวจึงนับว่าเป็นสมุนไพรพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่า ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นอาหารแล้ว ยังสามารถนำมาเป็นยารักษาและป้องกันโรค ช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้อีกด้วบ จึงเป็นสมุนไพรที่เหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง

ขอขอบคุณ : หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์

0 ความคิดเห็น: