วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สูตรสวย ด้วยผักและผลไม้ใกล้ตัว

การดูแลผิวหน้าด้วยสมุนไพรของสตรีทั่วโลกพบว่ามีการใช้กันมานานมากกว่า ๑ พันปีมาแล้วปัจจุบันได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าสมุนไพร ผัก ผลไม้ ไข่แดง น้ำผึ้ง นม และสิ่งที่ส่วนใหญ่กินได้เหล่านั้นอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ โปรตีน น้ำตาล และสารธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อผิวพรรณ

ประเทศไทยเองมีภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรในการดูแลผิวพรรณมาอย่างยาวนานเช่นกัน ทั้งยังเป็นประเทศที่ร่ำรวยผักและผลไม้ ซึ่งทำให้สามารถเลือกใช้ได้ตามชนิดต่างๆ ทุกฤดูกาล ตามภูมิภาคที่สามารถหาผัก ผลไม้ สมุนไพร ได้แตกต่างกันไป

สมุนไพรเพื่อความงามสำหรับผิวหน้า

ใบหน้าเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้คนจดจำ ผิวหน้า ที่ชุ่มชื้น เรียบเนียน มีความยืดหยุ่น (หรือที่เรียกกันว่าหน้าเด้ง) ไม่มีจุดด่างดำเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา  แต่ด้วยสภาพของวัยที่สูงขึ้น และมีโรคประจำตัวบางอย่าง  สภาพของวิถีชีวิต เช่น นอนดึก สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เครียด เป็นต้น ทำให้คนเราไม่สามารถมีผิวเรียบเนียนเช่นนั้นได้ การใช้สมุนไพรร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะส่งผลทำให้มีผิวพรรณที่ดีได้ยาวนาน

การใช้สมุนไพรสำหรับผิวหน้ามีหลักการง่ายๆ ดังนี้

- ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสะอาด
- สมุนไพรสดใหม่มีคุณภาพดี มีการย่อยขนาดจนละเอียด ไม่มีการระคายเคืองต่อผิวหนัง
- เป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัย จำง่ายๆ ก็คืออะไรที่กินได้ (เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ) นั้นสามารถใช้เป็นเครื่องสำอางได้
- ต้องเชื่อมั่นธรรมชาติของผิวหนังที่มีกลไกดูแลตัวเองอยู่แล้ว ต้องรักษากลไกนั้นไว้นานๆ

    
ข้อควรรู้เกี่ยวกับผิวหนัง

ผิวหนังมีหน้าที่ห่อหุ้มอวัยวะภายใน มีกลไกในการป้องกันผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้น ป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย  ควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมการซึมผ่านของสารต่างๆ ผ่านโครงสร้างของผิวหนัง รูขุมขน ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ
                     
ผิวพรรณที่ดีควรมีความชุ่มชื้น เต่งตึง ไม่แห้งผาก ผิวพรรณที่แห้งผากจะทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น แก่ก่อนวัย เป็นฝ้า เป็นโรคทางผิวหนังได้ง่าย ซึ่งผิวพรรณจะเต่งตึงได้จาก ๓ องค์ประกอบได้แก่ น้ำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเซลล์ถึงร้อยละ ๙๕ สารชุ่มชื้นตามธรรมชาติ ซึ่งผิวหนังสร้างขึ้นและ น้ำมัน ซึ่งผิวหนังจะมีกลไกการสูญเสียน้ำโดยมีการสร้างไขมันธรรมชาติปกป้องไม่ให้น้ำระเหยไปจากผิวหนัง (ครีมหรือไขมันตามธรรมชาติไม่ได้ไปเพิ่ม) การล้างหน้าด้วยน้ำร้อน การล้างหน้าบ่อย เกินความจำเป็น การล้างหน้าด้วยสบู่ที่มีความสามารถในการทำความสะอาดสูงๆ ล้วนทำให้ไขมันและสารที่ให้ความชุมชื้นตามธรรมชาติสูญเสียไป

                   
ผิวพรรณสะท้อนสุขภาพภายใน ความแข็งแรงและกลไกของผิวหนังขึ้นกับเลือด น้ำเหลืองที่มาหล่อ- เลี้ยง ดังนั้น ความเครียด อาหาร การออกกำลังกาย พฤติกรรมสุขภาพ ล้วนแล้วแต่มีผลต่อความงามของผิวพรรณ รวมถึงกรรมพันธุ์ก็มีส่วนสำคัญต่อการเป็นคนผิวแห้ง ผิวมัน ได้เช่นกัน

สมุนไพรที่ใช้เพื่อความงามของผิวหน้า

ว่านหางจระเข้ Aloe barbadensis Mill.
ป้องกันผิวแห้ง ทำให้เรียบลื่น เพิ่มความชุ่มชื้นต้านการอักเสบ ป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต
ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นเครื่องสำอางมาอย่างยาวนานนับพันปี มีบันทึกทั้งใน กรีก โรมัน ซาอุดีอาระเบีย จีน อินเดีย เล่ากันว่าเจลจากว่านหาง-จระเข้เป็นเคล็ดลับความงามของพระนางคลีโอพัตรา
 

                  
ใบว่านหางจระเข้มีน้ำเมือก และวุ้นมีสารสมาน    ผิว ช่วยลอกผิวหนังที่หยาบแห้งและเกิดผิวหนังใหม่     ที่นุ่มนวลขึ้นมาแทน สารนี้เป็นสารช่วยย่อยมีชื่อว่า     คาร์บอกซีเพปทิเดส (carboxypeptidase) และสารพวกสารเมือก (mucilage) สารช่วยย่อยตัวนี้จะมีฤทธิ์ลดการเจ็บปวด การอักเสบบวมของแผล ส่วนสารอะล็อก-ทินเอ (aloctin A) เป็นไกลโคโปรตีน จะไปช่วยทำให้เนื้อเยื่อที่ตายแล้วถูกทำลายไป และจะเพิ่มปริมาณของเซลล์ที่เกิดมาใหม่ให้มากขึ้น จึงทำให้แผลหายเร็ว

วุ้นจากว่านหางจระเข้ยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นในผิวหนังชั้นนอกได้จากสารเมือก และสารโพลีแซ็กคาไรด์
      
การเตรียมว่านหางจระเข้
ควรใช้ว่านหางจระเข้อายุ ๑ ปีขึ้นไป เลือกใบล่างสุด ปอกเปลือกออกใช้ส่วนที่เป็นวุ้นใสๆ ล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด วิธีล้างยางออกให้หมดต้องนำใบหางจระเข้ที่เพิ่งตัดออกมายังไม่ต้องปอกเปลือก ให้นำทั้งใบไปแช่น้ำจนน้ำยางสีเหลืองไหลออกมาจนหมด จึงนำไปล้างน้ำอีกครั้งแล้วจึงค่อยปอกเปลือก โดยฝานลึกๆ เอาแต่วุ้นข้างในแล้วนำวุ้นมาล้างอีกครั้งหนึ่ง

การใช้ว่านหางจระเข้ใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทาบริเวณที่เป็นสิว จะทำให้สิวยุบตัว และไม่เป็นแผลเป็น
ใช้เจลจากใบสดๆ ตัดเป็นชิ้นขนาดพอดีกับ   เปลือกตา วางทับบนเปลือกตารักษาผิวบริเวณดวงตา บวมช้ำ

ใช้วุ้นว่านหางจระเข้ล้วนๆ ทาที่ใบหน้าทิ้งไว้เพื่อบำรุงผิว (สำหรับคนหน้าแห้งอาจจะผสมกับครีมทาหน้าทั่วไปก็ได้) ซึ่งจะช่วยแก้ไขรอยหมองคล้ำ ทำให้ผิวหน้าชุ่มชื้น ลบรอยเหี่ยวย่น ใช้เป็นประจำจะลดรอยแผลเป็นจากสิว  รักษาฝ้า จุดด่างดำบนใบหน้า

ใช้ทาบนผิวหน้าในลักษณะของโทนเนอร์เพื่อป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต หรือเป็นรองพื้นสำหรับคนที่ผิวมันซึ่งทำให้แต่งหน้าลำบาก ใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทาให้ทั่วใบหน้า เสร็จแล้วแต่งหน้าตามปกติ ทำให้เครื่องสำอางบนใบหน้าไม่ลบเลือนง่าย

ใช้พอกหน้าเพื่อแก้ปัญหาผู้ที่มีรูขุมขนกว้าง โดยใช้ว่านหางจระเข้ ๓ ส่วน น้ำผึ้ง ๑ ส่วน น้ำมะนาว ๑ ส่วนผสมให้เข้ากัน พอกหน้าทิ้งไว้ ๒๐ นาที จึงล้างออก จะช่วยสมานรูขุมขนและทำให้ผิวหน้านุ่มเนียนขึ้น

ใช้ทำเป็นครีมล้างหน้า ครีมพอกหน้า เช่น ใช้วุ้น ว่านหางจระเข้ ผสมน้ำนม ทิ้งไว้สัก ๑๐-๑๕ นาทีแล้ว  ล้างออก บำรุงผิว ลดการเกิดสิว หรือใช้วุ้นว่านหางจระเข้ ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น ว่านหางจระเข้ ๖ ส่วน บัวบก ๒ ส่วน รำข้าวสาลี ๒ ส่วน นม ๐.๕ ส่วน น้ำผึ้ง ๐.๕  ส่วน ซึ่งแล้วแต่สภาพผิว ถ้าผิวแห้งก็ใส่นมมาก ถ้า    ผิวมันก็ลดปริมาณนมแล้วเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง  นำส่วนผสมมาปั่นผสมกัน พอกหน้าทิ้งไว้สัก ๑๐-๑๕ นาที     นวดคลึงเบาๆ ผิวหน้าจะสดใส ลบรอยแผลเป็นและ   จุดด่างดำ ให้พอกสม่ำเสมอสัปดาห์ละประมาณ ๑ ครั้ง

มะเขือเทศสุก Lycopersicon esculentum Mill.
เพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้ผิวหนังสดชื่น ป้องกันผิวจากอนุมูลอิสระ ทำให้หน้าขาวขึ้น
น้ำคั้นจากผลมะเขือเทศมีวิตามินหลายชนิด จึงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยทำให้ผิวหน้าชุ่มชื้นและมีสารกลูโคอัลคาลอยด์ ชื่อโทเมทีน (tomatine)  เป็นสารที่ออกฤทธิ์สมานแผล นอกจากนั้น มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยล้างผิวหน้าให้สะอาดนุ่มนวล ปรับสภาพผิวแห้งกร้าน และคืนสภาพผิวชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี

การเตรียมมะเขือเทศสามารถใช้มะเขือเทศได้ทั้งลูกโดยไม่ต้องปอกเปลือก

การใช้มะเขือเทศฝานมะเขือเทศวางบนใบหน้าสักครู่  จะช่วยทำให้ใบหน้าสะอาด  และดูเต่งตึงเปล่งปลั่งขึ้น
มะเขือเทศปั่นผสมกับข้าวโอ๊ตหรือรำข้าว พอกหน้า ทิ้งไว้ ๑๕-๒๐ นาทีแล้วล้างออก
เนื้อมะเขือเทศสุกบดละเอียด ลูบไล้ปลายหางตาจะลดการเหี่ยวย่น ป้องกันการเกิดริ้วรอยตีนกา ต้องทำทุกวันจึงจะเห็นผล
มะเขือเทศสุกบดละเอียด ผสมน้ำนมสด เป็น beauty mask พอกหน้าทิ้งไว้ ๑๕-๒๐ นาทีแล้วล้างออก พอกเป็นประจำจะทำให้ผู้ที่มีหน้าดำเป็นจุดๆ ค่อยๆ ขาวขึ้น ช่วยทำให้ผิวหน้าสะอาดขึ้น

ฝรั่ง Psidium guajava Linn.
เพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้เซลล์แข็งแรง ป้องกันผิวจากอนุมูลอิสระ สมานผิว
ฝรั่งเป็นผลไม้ที่สตรีในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกนิยมใช้เป็นเครื่องสำอางทาผิวหน้า โดยที่ฝรั่งมีโพแทส-เซียม น้ำตาล และกรดอะมิโนที่สามารถดึงน้ำให้อยู่ชั้นบนของผิวหนัง จึงทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นขึ้น นอกจากนี้ ฝรั่งยังมีวิตามินสูงที่สำคัญคือวิตามินบี ๒  ซึ่งถือว่าเป็นวิตามินเพิ่มพลัง ซึ่งจำเป็นในการซ่อมแซมและการเจริญเติบโตของเซลล์ รวมทั้งมีวิตามินบี ๕ ซึ่งเป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อเซลล์เช่นกัน ฝรั่งยังสามารถป้องกันผิวหน้าไม่ให้ถูกทำร้ายจากอนุมูลอิสระและเพิ่มการสร้างเซลล์ใหม่จากการที่ในฝรั่งมีวิตามินเอ วิตามินซี รีดิวซิ่งชูการ์ (reducing sugar) แมกนีเซียม และทองแดง

การเตรียมฝรั่งเลือกฝรั่งที่สดและไม่สุกจนเกินไป เอาเฉพาะส่วน ที่เป็นเนื้อ ไม่ใช้เมล็ด ควรหั่นเป็นชิ้นเล็กก่อนปั่น และต้อง เติมน้ำลงไปจำนวนหนึ่งทุกครั้งในการปั่น เพราะฝรั่งมีน้ำอยู่น้อย

การใช้ฝรั่งเนื้อฝรั่งหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ๑ ถ้วย น้ำ ๑_๒ ถ้วย น้ำผึ้ง  ๑_๔ ถ้วยปั่นจนเป็นเนื้อครีม นำมาพอกหน้าทิ้งไว้ ๑๐-   ๑๕-๒๐ นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดทำทุกวันก่อนเข้านอน หน้าจะสดใส เกลี้ยงเกลาและนวลเนียนขึ้น

แตงกวา Cucumis sativusLinn.
เพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้ผิวหนังสดชื่น เพิ่มความยืดหยุ่น ลดการบวมแดง สมานผิว
แตงกวาเป็นสมุนไพร เก่าแก่ชนิดหนึ่งซึ่งสาวทั่วโลกใช้เป็นเครื่องสำอางมาอย่างยาวนาน โดยแตงกวาช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น มีสารกลูซิด (glucids) กรดอะมิโน และเกลือแร่ต่างๆ ไปช่วยทำให้เกิดของสารชุ่มชื้นตามธรรมชาติที่ผิวหนังขึ้นมาใหม่

แตงกวายังช่วยทำให้ผิวหนังคงความเยาว์วัย มีความยืดหยุ่นจากการที่แตงกวามีสารซิสทิน (cystin) และเมทิโอนิน (methionin) และยังมีสารโพลีแซ็กคาไรด์ ที่ช่วยทำให้ผิวหนังสดชื่น ต้านการเป็นปื้นแดง ซึ่งจะมีประโยชน์ในการใช้ทาหลังจากไปตากแดดมา เช่น ไปทำนา ไปตีกอล์ฟ เป็นต้น
แตงกวาเป็นสมุนไพรที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวหน้าแห้งจากการที่มีคุณสมบัติไปเพิ่มความชุ่มชื้นและเหมาะกับคนที่มีหน้ามันจากคุณสมบัติสมานผิว

การเตรียมแตงกวาหั่นแตงกวาสดๆ ตามขวางบางๆ วางให้ทั่วใบหน้า
หั่นแตงกวาแล้วปั่นกรองคั้นเอาแต่น้ำเก็บไว้ใช้ทา ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน ๒ วัน
นำแตงกวาปอกเปลือก ๔ ส่วน กลีเซอรีน ๓ ส่วน น้ำ ๑ ส่วน ปั่นเข้าด้วยกัน กรอง เก็บน้ำไว้ใช้ได้ประมาณ ๑ ปี นำสารสกัดแตงกวานี้ไปผสมกับเนื้อครีมหรือโลชัน ประมาณ ๒-๔  ช้อนชาต่อครีมหรือโลชัน ๑๐๐ มิลลิลิตร

การใช้แตงกวาใช้แตงกวาสดๆ ฝานเป็นชิ้นบางๆ วางให้ทั่วใบหน้าที่ทำความสะอาดแล้ว ทำบ่อยๆ จะทำให้ใบหน้า ดูผุดผ่อง เปล่งปลั่งขึ้น และยังช่วยรักษาฝ้าบนใบหน้า ได้อีกด้วย
ใช้น้ำแตงกวามาทาใบหน้าเป็นประจำจะช่วยลดจุดด่างดำ รอยฝ้าที่เกิดจากการผจญแสงแดดและมลพิษ ระหว่างวัน และช่วยบำรุงผิว

ใช้แตงกวาสดปั่นละเอียด ๒-๓ ผล ผสมกับน้ำผึ้ง ๑_๔ ถ้วย หรือนมสด ๑_๒ ถ้วย ปั่นให้ละเอียด นำมาพอก   หน้า ทิ้งไว้ ๑๐ นาที แล้วล้างออก ก่อนนอนทุกวัน เหมาะกับคนผิวแห้ง จะทำให้ผิวหน้านุ่มนวลขึ้น

ใช้แตงกวาปั่นละเอียด ๒-๓ ผล โดยผสมกับไข่ขาวดิบตีจนฟู ๑ ฟอง น้ำมะนาว ๑ ช้อนชา ผสมจนเป็น เนื้อเดียวกัน นำมาพอกทิ้งไว้ ๑๐-๑๕ นาที ลดความมันบนใบหน้าสำหรับคนผิวมัน และยังช่วยกำจัดสิวเสี้ยน ทำให้หน้าเกลี้ยงเกลาขึ้น

ใช้แตงกวาฝานเป็นแว่นแปะที่ดวงตา แตงกวาสดจะมีเอนไซม์ย่อยเซลล์ที่ตายแล้ว ทำให้เซลล์บริเวณรอบดวงตาเย็น การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลดลง ริ้วรอยน้อยลง

ใช้แตงกวาสดใหม่ทั้งผลปั่นละเอียด ผสมน้ำผึ้งพอเหลว นำมาพอกหน้า ทิ้งไว้สักครู่ และล้างออกด้วยน้ำอุ่น เนื้อแตงกวาจะช่วยย่อยโปรตีนชั้นนอกที่หยาบกร้านและเกรียมแดดให้หลุดออกมาได้ และยังช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น ไม่แห้งแตกเป็นขุย

มะม่วง Mangifera indica Linn.
เพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้เรียบ ลื่น ทำให้ผิวหนังสดชื่น ป้องกันผิวจากอนุมูลอิสระ
มะม่วงมีวิตามินซีและ reducing glucid สูง จึงช่วยทำให้ผิวหนังสดชื่น ลบรอยเหี่ยวย่นและต้านอนุมูลอิสระ ในมะม่วงยังมีสารที่เป็นน้ำตาลร่วมกับกรดอะมิโน จึงช่วยทำให้เกิดความเรียบลื่น ชุ่มชื้นบนชั้นของหนังกำพร้า วิตามินเอ วิตามินซี และเกลือแร่ที่มีอยู่ในมะม่วงยังช่วยให้กลไกการสร้างเซลล์ใหม่เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น

การเตรียมมะม่วงปอกเปลือกออก เลือกใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อ

การใช้มะม่วง ใช้สำหรับคนเป็นฝ้า นำเนื้อมะม่วงสุกมายีหรือ ปั่น แล้วนำไปพอกให้ทั่วหน้า ทิ้งไว้จนรู้สึกว่าแห้งจึงล้างออก จะทำให้หน้าขาวและนุ่มนวลขึ้น มะม่วงสามารถใช้ได้กับทุกสภาพผิว

บัวบก Centella asiatica L.
สร้างเซลล์ใหม่ ทำให้เซลล์แข็งแรง ลดอาการบวมคั่ง (decogestion) กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อของผิวหนัง

บัวบกเป็นสมุนไพรที่มีชื่อเสียงในการรักษาแผลมาอย่างยาวนาน ทำให้แผลหายเร็วและไม่เป็นแผลเป็น โดยการที่บัวบกไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสทินซึ่งเป็นส่วนประกอบของผิวหนัง จากการที่มีสารพวกไตรเทอร์พีน เช่น asiaticoside, madecassoside,    asiatic, madecassic, madisiatic acids เป็นต้น                     
นอกจากนี้ ยังมีสารฟลาโวนอยด์เสริมสรรพคุณในการลดการอักเสบ ลดการระคายเคือง สารในบัวบกเหล่านี้ยังทำให้การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดเล็กๆ ดีขึ้น จึงมีประโยชน์ต่อผิวหนังหลายด้าน เช่น เป็นการทำให้เซลล์ได้รับอาหารมากขึ้น เซลล์แข็งแรงขึ้น ลดอาการบวมคั่ง แก้ปัญหาผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผิวส้ม

การเตรียมบัวบกบัวบกเป็นสมุนไพรที่ขึ้นกับดิน ต้องเลือกตัดเอาเฉพาะส่วนที่เหนือดิน แล้วนำมาล้างให้สะอาด บัวบกมีลักษณะเหนียว ถ้านำไปปั่นในเครื่องปั่นทั้งต้นโดยไม่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนและจะต้องมีน้ำอยู่ด้วย มิเช่นนั้นจะทำให้เครื่องปั่นทำงานหนักและมีปัญหาได้

การใช้บัวบกใบบัวบกส่วนที่เหนือดินตัดรากออก ๑ กำมือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ น้ำสะอาด ๒-๓ ช้อนโต๊ะ อาจจะเติมน้ำผึ้งลงไปสัก ๑ ช้อนชา ปั่นให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกันพอกก่อนเข้านอนทิ้ง ไว้ ๑๕-๒๐ นาทีแล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด พอกได้ทุกวัน จะทำให้ผิวหน้าอ่อนเยาว์ สดใส ไร้รอยแผลเป็น

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพร

สมุนไพรทุกอย่างอาจมีบางคนที่แพ้ได้ การทดสอบว่าแพ้หรือไม่ให้นำส่วนผสมที่จะใช้ทาที่ท้องแขนก่อน เพราะผิวหนังบริเวณนี้จะเป็นส่วนที่บางกว่าหน้า ทิ้งไว้สักพักหนึ่งถ้าไม่เกิดอาการแสบร้อน มีผื่น ถือว่าไม่แพ้ การใช้สมุนไพรเพื่อที่จะได้ผลต้องมีการใช้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง จึงจะเห็นผล ตำรับต่างๆ ในการใช้สมุนไพรเพื่อความงามส่วนใหญ่เป็นผลไม้หรือผักที่ไม่ได้ตายตัว สามารถที่ปรับได้ ผสมสูตรขึ้นมาใหม่ได้ตามชนิดผลไม้หรือผักที่มีอยู่ ระยะเวลาในการทำหรือพอกก่อนล้างออกนั้นไม่ได้ตายตัว ขึ้นกับสภาพผิวของแต่ละคน คนที่ผิวแพ้ง่ายควรใช้เวลาน้อยกว่า และการใช้ในช่วงแรกไม่ควรพอกหรือทาทิ้งไว้นานๆ โดยเฉพาะตำรับที่มีกรดผลไม้ (ที่มักมีในมะขาม มะนาว สับปะรด) ซึ่งต้องมีการปรับตัวในการใช้ช่วงแรกๆ ต้องใช้ปริมาณน้อยๆ และในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนใช้ เช่น ถ้าใช้มะขามล้างหน้า ในช่วงแรกอาจจะต้องล้างออกทันทีประมาณ ๑ สัปดาห์ ก่อนทาหรือพอกทิ้งไว้ สามารถปรับตามสภาพของผิว เช่น ผิวแห้ง ควรใช้ น้ำนมโยเกิร์ต ไข่แดง  ผิวมัน ใช้น้ำมะนาวหรือน้ำส้ม ไข่ขาว  ส่วนน้ำผึ้งสามารถเติมลงไปได้ทุกสภาพผิว
 
ขอขอบคุณ : ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

น้ำหมักยอเพื่อสุขภาพ ทำเองได้ง่าย ๆ

เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดร.รสสุคนธ์ พุ่มพันธ์วงศ์ ได้นำน้ำหมักชีวภาพมาเผยแพร่และแนะนำสู่การบริโภค ส่งผลให้เกิดการนำวัตถุดิบต่าง ๆ มาหมักเพื่อบริโภค โดยเชื่อกันว่าในน้ำหมักมีเอ็นไซม์และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2542 ได้มีการนำเข้าน้ำผลไม้โนนิมาขายในประเทศไทย โดยระบุสรรพคุณว่าสามารถฟื้นฟูและรักษาสุขภาพ โดยมีราคาขวดละประมาณ 1,000 บาท โนนิก็คือ "ผลยอ" นั่นเอง จึงทำให้ประชาชนสนใจและหันมาบริโภคผลยอ ซึ่งเดิมไม่มีราคา ปล่อยให้สุกหล่นอยู่ใต้ต้น และลองนำมาทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค จากการบริโภคพบว่า ทำให้สุขภาพดีกว่าเดิม จึงทำให้มีการบริโภคกันมากขึ้นในช่วงปี 2543-44 และเมื่อประชาชนนิยมบริโภคกันมาก แต่ยังขาดองค์ความรู้พอเพียงต่อการยืนยันความปลอดภัยในการบริโภค ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศมาจัดทำร่างงานวิจัยเรื่องน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคขึ้นในปี 2545

ประโยชน์ของการบริโภคน้ำหมักยอ

ผลจากการสำรวจโดยเก็บข้อมูลน้ำหนักชีวภาพทั่วไปในท้องตลาด พบว่า ผลิตจากผลยอมากเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 61.1) รองลงมาคือ กระชายดำ ข้อมูลจากการสอบถามและสัมภาษณ์ผู้บริโภคน้ำหมักยอ จำนวน 235 ราย ให้คำตอบว่าขับถ่ายดีกว่าเดิม (ร้อยละ 67.7) นอนหลับมากกว่าเดิม (ร้อยละ 63.8) รู้สึกกระปรี้กระเปร่า (ร้อยละ 61.3) หายปวดข้อ (ร้อยละ 49.8) รับประทานอาหารได้มากขึ้น (ร้อยละ 41.7) และคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ดีขึ้น ได้แก่ อารมณ์ดีขึ้น (ร้อยละ 55.3) จิตใจปลอดโปร่งแจ่มใส (ร้อยละ 50.2) สบายใจ (ร้อยละ 43.0) (ธวัชชัยและคณะ, 2547)

จากการให้ผู้มีอาการท้องผูกบริโภคน้ำหมักยอ 2 ช้อนแกง (60 ลูกบาศก์เซนติเมตร) หลังอาหารเย็นเป็นเวลา 3 วัน พบว่า มีการขับถ่ายได้มากกว่าเดิมคือ 1.1 ครั้งต่อวัน จากเดิมเคยถ่าย 0.57 ครั้งต่อวัน (วารุณีและประไพพรรณ, 2547)

และเมื่อทดลองให้ผู้ป่วยโรคเอดส์บริโภคพบว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะอาการท้องร่วงลดลง (มปน, 2547)

สรรพคุณทางยาของน้ำหมักยอ

การที่ผู้บริโภคมีอาการต่าง ๆ ดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเชื่อว่าในผลยอมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลายและสามารถแก้อาการต่าง ๆ ได้ดังนี้คือ

แก้อาเจียน เนื่องจากมีสารแอสเปรูโลไซด์ (asperuloside)

แก้อาการท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับพยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย และขับเลือดหลังคลอด เนื่องจากมีสารแอนทราควินโนน (anthraquinone)

ลดอาการอักเสบ ฆ่าแบคทีเรียบางชนิด และลดความดันเนื่องจากมีสารสโคโปเลติน (scopoletin)

ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง เนื่องจากมีสารแดนนาแคนทาล (dannacanthal)

ป้องกันเซลล์จากสารพิษ และฟื้นฟูเซลล์ที่เสื่อมให้กลับทำงานได้เป็นปกติ กระตุ้นต่อมไพนีล (pineal gland) มีผลทำให้การทำงานของสมองดีขึ้น ช่วยควบคุมชีโรโตนีน (Serotonin) เพื่อสร้างฮอร์โมนมีลาโตนีน (melatonin) ซึ่งช่ยในการนอนหลับ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และสภาพอารมณ์ในวัยรุ่น ช่วยให้รังไข่เติบโตและทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมีสารโปรเซโรนีน (proxeronin) ซึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นเซโรนีน (xeronin) (กองบรรณาธิการ, 2544, นันทวันและอรนุช, 2543)

จากการตรวจหาเมททิลแอลกอฮอล์ พบว่า มีในบางตัวอย่าง แต่ในตัวอย่างที่พบยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้จากการศึกษาความเป็นพิษของผลยอพบว่า ไม่เป็นพิษต่อตับ แต่การบริโภคน้ำหมักยอในปริมาณมาก ๆ อาจเป็นอันตรายต่อไต และเกิดโรคความดันขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคไต ไม่ควรบริโภค

การผลิตน้ำหมักยอ

สูตรที่ใช้คือ ลูกยอ 3 ส่วน น้ำตาลทราย 1 ส่วน น้ำ 10 ส่วน และน้ำผักดองเปรี้ยว 1 ส่วน วัตถุดิบที่ใช้คือ ลูกยอ น้ำตาลทราย น้ำ น้ำผักดองเปรี้ยว อุปกรณ์ที่ใช้คือ หม้อ ขวดปากแคบหรือถังน้ำดื่มปากแคบที่มีฝาปิด

วิธีการ

คัดลูกยอเอาแต่ผลแก่ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นขนาดที่สามารถบรรจุลงในขวดหรือถังน้ำได้
นำลูกยอที่หั่นแล้วมาลวกในน้ำเดือด (เช่นเดียวกับการลวกถั่วงอกในร้านขายก๋วยเตี๋ยว)
นำยอที่ลวกแล้วมาบรรจุในถังน้ำหรือขวดที่ลวกด้วยน้ำเดือด
ต้มน้ำให้เดือด ใส่น้ำตาลคนจนน้ำตาลละลาย แล้วปิดฝา (ฝาที่ใช้ต้องลวกด้วยน้ำเดือด) ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำมาใส่ถังหรือขวดที่ใส่ลูกยอลวกไว้
กรองเอาแต่น้ำผักดองเปรี้ยวมาใส่
ตั้งถังไว้ในที่ร่ม เขย่าถังน้ำหรือขวดทุก 3 วัน โดยก่อนเขย่าให้คลายเกลียวฝาที่ปิดเพื่อระบายอากาศออกทุกครั้ง แล้วปิดให้แน่นเหมือนเดิมโดยไม่ยกฝาออกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์อื่น ๆ หมักนาน 1 เดือน จะได้น้ำหมักยอเปรี้ยว
กรองเอาแต่น้ำไปใส่ในขวดใบใหม่ที่ลวกด้วยน้ำร้อนแล้ว โดยบรรจุให้เต็มขวดแล้วปิดฝา
ปล่อยให้ตกตะกอนจนน้ำใส แล้วทำกาลักน้ำ เอาเฉพาะส่วนน้ำใส นำไปต้มที่อุณหภูมิไม่เกิน 85 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที บรรจุขวดขณะร้อนให้เต็มแล้วปิดฝา จะเก็บไว้บริโภคได้นาน

ข้อเสนอแนะ

เมื่อใส่ทุกอย่างลงไปในถังหรือขวดแล้ว ควรให้เหลือช่องอากาศ หรือที่ว่างตรงปากถังหรือขวดประมาณ 1/5 ของถังหรือขวด เนื่องจากจุลินทรีย์ชนิดที่มีอยู่นี้ไม่ต้องการอากาศในการเจริญเติบโต จึงควรใช้ภาชนะในการหมักเป็นขวดหรือถังน้ำดื่มปากแคบ และขณะหมัก จุลินทรีย์จะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจึงต้องมีการเขย่าเพื่อระบายก๊าซออกไปจากถัง มิฉะนั้นอาจทำให้ถังระเบิดได้ นอกจากนี้ภาชนะที่ใช้ควรเป็นขวดหรือถังพลาสติกที่ใช้ใส่น้ำดื่ม เพราะน้ำหมักที่ได้มีสภาวะเป็นกรด จึงไม่ควรใช้ภาชนะชนิดอื่น เพราะอาจทำปฏิกิริยากับกรด เช่น อลูมิเนียมทำปฏิกิริยากับกรดจะทำให้ภาชนะจะผุกร่อน ทำให้มีโลหะอลูมิเนียมตกค้างอยู่ในน้ำหมัก หรือการใช้ถังพลาสติกสีอาจมีโอละหนักที่ใช้เป็นเม็ดสีละลายออกมาอยู่ในน้ำหมักได้

น้ำผักดองเปรี้ยวที่ใช้เป็นแหล่งของจุลินทรีย์เริ่มต้นในการหมักนั้น อาจใช้น้ำผักกาดเขียวปลีดองเปรี้ยวที่ซื้อมาจากร้านค้าที่ดองขายเป็นถุง ๆ ซึ่งยังมีการหมักอยู่โดยสังเกตได้จากการที่ยังมีฟองอากาศเล็ก ๆ อยู่ในถุง หรือจะทำเองก็ได้โดยใช้ผักชนิดใดก็ได้ แต่แนะนำให้ใช้ดอกโสน เนื่องจากดอกโสนค่อนข้างสะอาดปราศจากยาฆ่าแมลงและให้น้ำดองที่มีสีสวย โดยเริ่มจากนำผักหรือดอกโสนมาล้างให้สะอาด แล้วใส่ขวดหรือถุง จากนั้นใส่น้ำให้ท่วมผักหรือดอกโสนแล้วชั่งน้ำหนักของผักหรือดอกโสนกับน้ำรวมกัน แล้วนำมาคำนวณหาปริมาณเกลือที่จะใส่ลงไป โดยใส่เกลือ 3% ของน้ำหนักรวมของผักกับน้ำ กดทับผักให้จมลงใต้น้ำโดยใช้ถุงน้ำปิดอีกที หรือถ้าหมักในถุงก็ปิดปากถุงให้เกลืออากาศน้อยที่สุด หมักไว้นาน 7 วัน จึงนำมาใช้ โดยนำตัวผักหรือดอกโสนไปบริโภค แต่ส่วนน้ำนำมาใช้หมักน้ำหมักยอ

น้ำหมักยอมีประโยชน์มากหากทานในปริมาณที่กำหนดและสามารถทำเองได้ง่าย ๆ เพื่อบริโภค หรือเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้วิธีการทำน้ำหมักยอที่แนะนำนี้จะได้น้ำหมักที่ไม่มีแอลกอฮอล์ด้วย 

ขอขอบคุณ : สำนับริการคอมพิวเตอร์

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มะนาว ลดคอเลสเตอรอลป้องกันโรคหลอดเลือด

มะนาวเป็นไม้ผลชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มเตี้ย สูงเต็มที่ราว 5 เมตร ก้านมีหนามเล็กน้อย ก้านใบสั้น ใบเรียงสลับกลมรีสีเขียวเข้ม ขอบใบหยักเล็กน้อย โคนและปลายใบมน ดอกขนาดเล็กมี 5 กลีบสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

ผลมะนาวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะมีสีเหลือง เปลือกบาง ภายในมีเนื้อแบ่งกลีบๆ ชุ่มน้ำมาก น้ำคั้นผลมีรสเปรี้ยวจัด

ปกติจะมีดอกผลตลอดทั้งปี แต่ติดผลน้อยในช่วงหน้าแล้งและผลที่ได้จะมีน้ำน้อย เปลือกผลมีน้ำมัน มีกลิ่นหอมแต่มีรสขม


มะนาวนับเป็นผลไม้ที่มีคุณค่า นิยมใช้เป็นเครื่องปรุงรส นอกจากนี้ยังถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการและทางการแพทย์ด้วย

มะนาวเป็นพืชพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนในภูมิภาคนี้รู้จักและใช้ประโยชน์จากมะนาวมาช้านาน

น้ำมะนาวนอกจากใช้ปรุงรสเปรี้ยวในอาหารหลาย ประเภทแล้ว ยังนำมาใช้เป็นเครื่องดื่ม ผสมเกลือ และน้ำตาล เป็นน้ำมะนาว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศทั่วโลก นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดยังนิยมฝานมะนาวเป็นชิ้นบางๆ เสียบไว้กับขอบแก้ว เพื่อใช้แต่งรส
ภายในผลมะนาวมีน้ำมันหอมระเหยถึงร้อยละ 7 น้ำมะนาวจึงมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นส่วนผสมน้ำยาทำความสะอาด เครื่องหอม การบำบัดด้วยกลิ่น (aromatherapy) หรือน้ำยาล้างจาน ส่วนคุณสมบัติที่สำคัญ ที่ใช้มาแต่โบราณคือ ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งเป็นปัญหาของนักเดินเรือมาช้านานอันเกิดจากการขาดวิตามินซีนั่นเอง

น้ำมะนาวมีคุณค่าในการเป็นสารให้ความเปรี้ยว ผิวมะนาวมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย
มะนาวเป็นเครื่องปรุงรสอาหารไทยที่ขาดเสียไม่ได้ เป็นองค์ประกอบรสเปรี้ยวหลักของน้ำพริก ส้มตำ ยำทุกชนิด ลาบและอาหารไทยอีกอีกมากมาย ต่างประเทศใช้มะนาวทั้งในอาหารคาวหวาน เช่น ในพายมะนาวของรัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา

การใช้งานทางยา
เปลือกผล เปลือกผลแห้งมีรสขม ช่วยขับลมได้ดี รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด นำเอาเปลือก ของผลสดมาประมาณครึ่งผล คลึงหรือทุบเล็กน้อยพอให้น้ำมันออก ฝานเป็นชั้นบางๆ ชงกับน้ำร้อนดื่มเวลามีอาการหรือหลังอาหาร 3 เวลา

น้ำคั้นผลมะนาว ใช้แก้ไอขับเสมหะ เนื่องจากกรดที่มีอยู่ในน้ำมะนาวกระตุ้นให้มีการขับน้ำลายออกมา ทำให้เกิดการชุ่มคอจึงลดอาการไอลงได้ ใช้ผลสดคั้นน้ำได้น้ำมะนาวเข้มข้น  ใส่เกลือเล็กน้อย (หรือผสมน้ำผึ้ง 1 ส่วนน้ำมะนาว 3 ส่วน) แล้วจิบบ่อยๆ หรือจะทำเป็นน้ำมะนาวใส่เกลือและน้ำตาล ปรุงรส ให้เข้มข้นพอประมาณดื่มบ่อยๆ

ชาวฮังการีชงชาเติมน้ำผึ้งบีบมะนาว จิบแก้ไอ
เช้าหลังตื่นนอน ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว บีบมะนาว 1/4 ผล (หรือใส่เกลือเล็กน้อย) บรรเทาอาการท้องผูก และช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย

น้ำมะนาวใช้ในด้านความงาม ผลัดเซลล์ผิว ลดรอยด่างดำ ใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนชา ผสมน้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน ทาให้ทั่วใบหน้า ทิ้งไว้สักครู่ ล้างออกด้วยน้ำสะอาดแล้วซับให้แห้ง ทำสัปดาห์ละครั้ง ผิวหน้าจะดูสดใส หรือใช้น้ำมะนาวผสมน้ำแช่อาบ

น้ำมะนาวผสมผงกำมะถัน ใช้ทาก่อนนอน แก้อาการกลาก เกลื้อน หิด
ใช้น้ำมะนาวทาที่ตุ่มคัน ทิ้งไว้ให้แห้ง ล้างน้ำสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง แล้วใช้แป้งทาตุ่มคัน แก้น้ำกัดเท้า

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
สารดี-ลิโมนิน (d-limonin) เป็นสารที่ทำให้เกิดความขมในน้ำมะนาว น้ำมันผิวมะนาว (lime oil) พบมากบริเวณผิวเปลือกมะนาวมีสารดี-ลิโมนิน เป็นองค์ประกอบหลักเกินกว่าร้อยละ 90 พบว่าน้ำมันผิวมะนาว มีคุณสมบัติป้องกันและรักษามะเร็งหลายชนิด

ชาวตะวันตกทั่วไปมักดื่มน้ำส้ม หรือน้ำจากผลพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มโอ หรือมะนาว ประกอบกับอาหารเช้า น้ำผลไม้เหล่านี้มีวิตามินซี และมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ประกอบด้วยสารเฮสเพอริดิน (hesperidin) รูทิน (rutin) และนาริงจิน (naringin) และลิโมนิน เป็นฟลาโวนอยด์หลักของพืชตระกูลส้ม จากนี้จะเรียกสารกลุ่มนี้ว่าฟลาโวนอยด์ส้ม (citrus bioflavonoid)

สารกลุ่มฟลาโวนอย์ส้มนี้มีรายงานทางการแพทย์ตะวันตกว่าใช้ในการรักษามาลาเรีย โรครูมาติสม์เรื้อรังและโรคเกาต์ ใช้ในการป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ป้องกันการตกเลือดหลังคลอด และช่วยบรรเทาอาการระคายคอจากการติดเชื้อ

การกินฟลาโวนอยด์ส้มทำได้โดยกินส้ม ส้มโอ บีบมะนาวใส่เครื่องดื่ม และดื่มน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสด ถ้ากินผิวมะนาว ผิวส้มหรือเครื่องดื่มผิวมะนาวและส้มจะได้ฟลาโวนอยด์ส้มในปริมาณที่มากขึ้น

รักษาสมรรถนะร่างกาย
การศึกษาทางคลินิกตลอดปี พ.ศ.2505 พบว่านักกีฬายูโด ฟุตบอล บาสเก็ตบอล และกรีฑาที่ได้รับสารฟลาโวนอยด์ส้มติดต่อกันมีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อน้อยกว่า ถ้าบาดเจ็บก็ฟื้นตัวได้เร็วกว่า 2 เท่า
นอกจากนี้ การวิจัยทางคลินิกกับบุคคลที่มีปัญหาการไหลเวียนเลือด พบว่าบุคคลที่ได้รับฟลาโวนอยด์ส้มวันละ 1 กรัมติดต่อกัน 8 สัปดาห์มีการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น มีแรงกว่าเดิม มีอาการปวดน้อยและมีอาการเหน็บชากลางคืนน้อยลง

ลดคอเลสเตอรอลในเลือด
การแพทย์แผนจีนใช้มะนาวแห้งเป็นตัวยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดมานานแล้ว

อิตาลี การศึกษาสัตว์ทดลองในหนู พบว่าเมื่อให้สารเฮสเพอริดินซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์หลักจากเปลือกในพืชตระกูลส้มกับหนูไขมันสูง มีผลเพิ่มไขมันที่ดี (เอชดีแอล-คอเลสเตอรอล) ลดไขมันไม่ดี (แอลดีแอล-คอเลสเตอรอล) ลดปริมาณไขมันรวมและไตรกลีเซอไรด์ ในหนูดังกล่าว และมีผลลดความดันเลือดและขับปัสสาวะในหนูความดันสูง

สหรัฐอเมริกา งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ฟลาโวนอยด์ส้มสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มเฮสเพอริดิน และกลุ่มโพลีเมททอกซิเลตฟลาโวน (PMFs) มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในพลาสม่าของสัตว์ทดลอง ซึ่งสนับสนุนผลของงานวิจัยในหนูถีบจักรของแคนาดา

แคนาดา การทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า ฤทธิ์ดังกล่าวของฟลาโวนอยด์ส้มเกิดจากผลการกระตุ้นการทำงานของยีนรีเซปเตอร์ไขมันไม่ดี (แอลดีแอล) ในตับ ณ ตำแหน่งที่ควบคุมโดยสเตอรอล (sterol regulatory element, SRE)

สาธารณรัฐประชาชนจีน งานวิจัยพบว่า นาริงจิน และเฮสเพอริดินซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์ส้มมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของยีนอะดีโพเนกทิน (adiponectin) ซึ่งเป็นยีนสำคัญในเมตาบอลิซึมของกลูโคสและไขมันที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลัคอุดตันของหลอดเลือดและกระบวนการอักเสบ ผลการศึกษากล่าวว่าฟลาโวนอยด์ส้มทั้ง 2 ชนิดแสดงผลต้านการเกิดพลัคโดยกระตุ้น perovisome proliferator-activated receptor (PPAR) และยีนอะดีโพเนกทินในเซลล์ไขมันอะดีโพไซต์

นอกจากนี้ สารทั้งสองยังมีฤทธิ์เอสโทรเจนอย่างอ่อน มีผลต่อการสร้างไนตริกออกไซด์ในเซลล์ผนังหลอดเลือดผ่านการกระตุ้นรีเซปเตอร์ของเอสโทรเจน จึงมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นเหตุให้สนับสนุนการกินมะนาว และฟลาโวนอยด์ส้มเพื่อลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงวัยทอง

กระตุ้นภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็ง
อิหร่าน งานวิจัยพบว่า น้ำมะนาวเข้มข้น (concentrated lime juice, CLJ) มีฤทธิ์กระตุ้นเซลล์โมโนนิวเคลียร์ในระบบภูมิคุ้มกัน และโปรตีนในน้ำมะนาวเข้มข้นมีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
การศึกษาในห้องทดลองในมลรัฐเท็กซัสและแคลิฟอเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ส้มมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นพอประมาณ แต่ต่ำกว่าฟลาโวนอยด์ในพืชตระกูลขิง
มีบทความทางการแพทย์กล่าวว่า ฟลาโวนอยด์ส้มยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ปอด ช่องปาก กระเพาะอาหาร และมะเร็งเต้านมจากการทดลองในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลองหลายชนิด แต่ยังไม่พบผลการศึกษาทางคลินิก

ขอขอบคุณ:นักเขียนหมอชาวบ้าน: รศ.ดร.สุธาทิพ ภมร