วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

Anti-aging medicine - เวชศาสตร์ชะลอวัย "หยุดความแก่"

Anti-aging medicine - เวชศาสตร์ชะลอวัย "หยุดความแก่"

หลักของความเป็นจริงไม่มีใครหนีความแก่ชราไปได้ แต่หากมีศาสตร์ที่ช่วยยืดอายุมนุษย์อย่าง “เวชศาสตร์ชะลอวัย” ที่ไม่ต้องพึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ให้มากมาย เพียงแต่ต้องทำความรู้จักตนเองก่อน



“ความแก่” เข้าใคร-ออกใครที่ไหนล่ะ ลองถามคนใกล้ตัวคุณได้เลยว่าใครอยากแก่...“ไม่มี” ตอบแทนได้เลย ยิ่งเป็นผู้หญิงแล้วล่ะก็...ไม่ต้องพูดถึง อะไรที่เกี่ยวกับความสวยความงาม รับรองไม่มีทางพลาด!!!

แล้วจะมีวิธีชะลอความแก่ได้หรือไม่? พญ.วรรณวิพุธ สรรพลิทธิ์วงศ์ แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกผ่าน “เดลินิวส์ออนไลน์” ถึงวิธีการดูแลให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์คงความเป็นหนุ่มสาวแบบหมดเปลือกว่า...“เวชศาสตร์ชะลอวัย” คือการแพทย์สำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาว (Longevity Medicine) ยึดหลักการดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อมีอายุมากขึ้น (Anti-aging medicine) เป็นการแพทย์เชิงรุก ก่อนที่จะมีปัญหาเกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นจะเยียวยารักษาอย่างไร ชะลอให้ช้าที่สุด และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด โดยผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ 1.การป้องกัน เพราะโรคบางชนิดนำไปสู่โรคอื่นๆตามมา 2.ชะลอความเสื่อม หรือป้องกันภาวะแทรกซ้อน3.ฟื้นฟู ซึ่งแพทย์จะออกแบบวิธีรักษาให้อวัยวะที่เสื่อมเหล่านั้นกลับมาทำงานได้ หรือคงความเสื่อมไม่ให้รุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่

“ความโดดเด่นของการแพทย์ด้านชะลอวัย คือเรื่องการฟื้นฟู เนื่องจากหากประสบความสำเร็จในการรักษาหรือชะลอการก่อโรคได้ ก็จะแห่กันเข้ามารักษาบ้าง ซึ่งแท้จริงแล้ว หมอทำหน้าที่เป็นโค้ช คล้ายๆ หมอประจำครอบครัว แนะนำให้กินอยู่ อย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ”

ต้องบอกด้วยว่า...แก่นของศาสตร์ด้านการชะลอวัย คือ เรื่องไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หมอจะพยายามออกแบบวิธีการใช้ชีวิตให้กลับไปสู่จุดเริ่มต้น Back to basic นำหลักการกิน นอน ออกกำลังกาย และการบริหารอารมณ์ มาใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์คือ you are what you eat

1.อาหาร...รับประทานให้มีความหลากหลาย ควรทานเพียง 80% ของกระเพาะอาหาร ซึ่งวิธีสังเกตว่า ทานแป้งมากเกินไปหรือไม่ หลังทานเสร็จใน 2 ชม.หากรู้สึกง่วง แสดงว่าทานแป้งมากเกินไป อีกทั้งคนไทยมักไม่ทานผัก จึงขาดไฟเบอร์จากผักใบเขียวเข้ม ส่วนผลไม้ที่มีกากใยอาหารมาก แนะนำคือ “ฝรั่ง” ช่วยดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน หรือ “แอปเปิ้ล” “ชมพู่”

2.ออกกำลังกาย...โดยยึดกิจวัตรประจำวันทางกาย (Physical Activities) ซึ่งถ้าได้กระทำสม่ำเสมอจะเป็นพฤติกรรมที่สร้างเสริมสุขภาพ และมีผลต่อการป้องกันโรคลอดเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ โรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ แต่วิธีที่แนะนำ คือ เดินชะลอวัย ป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เพียงเดินวันละ 1หมื่นก้าว รวมระยะทางประมาณ 5กม.

3.สุขอนามัยการนอน (Sleep Hygiene)...หากจะนอนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ วันละ 3-5 ชม.ก็เพียงพอ แต่หากต้องการนอนแบบมีคุณภาพ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชม. ส่วนการนอนกลางวัน (power nap) ประมาณ 20 นาที ก็จะช่วยให้สมองได้พักผ่อน

พญ.วรรณวิพุธ ยังแนะนำวิธีในการนอนหลับที่ถูกต้องและน่าสนใจว่า 1.ความสว่าง หลับขณะนอนดูทีวี แสงสีฟ้าจะยับยั้งการผลิตฮอร์โมเมลาโทนิน ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งต่ำ เมื่อสิ่งเร้ามารบกวนยิ่งทำให้ลดลง 2.คลื่นไฟฟ้าจากมือถือ หากใช้เป็นเวลานาน 10-20 ปี สมองข้างใดข้างหนึ่งเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมอง ควรวางให้ไกลศรีษะอย่างน้อย 1 ฟุต แต่ปิดเครื่องดีที่สุด 3.เตียง ต้องเหมาะกับร่างกายของผู้นอน เช่น คนปวดหลังก็ควรนอนเตียงแข็ง ไม่ใช่เตียงนุ่มๆ

แท้จริงแล้ว...หลักของความเป็นจริงไม่มีใครหนีความแก่ชราไปได้ แต่หากมีศาสตร์ที่ช่วยยืดอายุมนุษย์อย่าง “เวชศาสตร์ชะลอวัย” ที่ไม่ต้องพึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ให้มากมาย เพียงแต่ต้องทำความรู้จักตนเองเสียก่อน ถึงจะวางแผนได้ถูก ว่าจะต้องรักษาตนเองด้วยวิธีไหน

ไม่เช่นนั้น! การเดินผ่านร้านหมูปิ้งเจ้าประจำ คุณจะไม่รู้เลยว่า เลือกกินอย่างไรถึงจะไม่อ้วน และโรคไม่ถามหา!!!

บทความ : Dailynews

0 ความคิดเห็น: