วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อาหารขยะ Junk Food

วันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก เต็มไปด้วยการแข่งขัน เร่งรีบประกอบกับการโฆษณา ยุคโลกาภิวัฒน์ในสหัสวรรษใหม่ ข้อมูลข่าวสารไหลมาตามช่องทางต่างๆ ถึงตัวผู้บริโภคได้รวดเร็ว จนบางครั้ง ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ไม่มีใครพิสูจน์จนกว่าจะได้ลองเอง

วิถีชีวิตและพฤติกรรม ที่เปลี่ยนไปของคนเมือง ทำให้ต้องฝากปากท้อง กับอาหารสำเร็จรูป และอาหารจานด่วน ซึ่งส่วนมาก จะมาในรูปอาหารตะวันตก ประเภทสะดวก เร็ว อิ่ม (แต่แพง) เพราะซื้อหาได้ทั่วไป ถูกปากคนรุ่นใหม่ ใส่บรรจุภัณฑ์เก๋ไก๋ พกพาไปได้ทั่ว รับประทานได้ทุกที่

คำว่า Junk Food เป็นศัพท์แสลงของ อาหารที่มีสารอาหารจำกัด หรือที่เรียกกันว่า อาหารขยะ อาหารไร้ประโยชน์ อาหารที่นักโภชนาการ ไม่เคยแนะนำ อะไรทำนองนี้ แต่ขึ้นชื่อว่า Junk Food จะต้องประกอบด้วยสารอาหาร ที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำตาล ไขมัน แป้ง และมีส่วนประกอบโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ น้อยมาก ตัวอย่างเช่น ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม รสหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง ขนมหวานทุกชนิด อาหารทอด อาหารจานด่วนบางชนิด และน้ำอัดลม หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Empty Calorie มีความหมายว่า ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์เลย เทียบกับอาหารไทย โดยพื้นฐานแล้ว ในหนึ่งจานให้คุณค่าหลากหลาย ไขมันต่ำกว่า อุดมด้วยสมุนไพร ที่เป็นคุณต่อสุขภาพ แต่ด้วยความเร่งรัดของวิถีชีวิต ทำให้คนไม่มีเวลาเลือกหา และไม่ยอมเสียเวลา ปรุงอาหารรับประทานเอง อย่างน้อยหนึ่งมื้อ ในหนึ่งวันของใครหลายคน จึงเลือก Junk Food เป็นทางออก ขณะเดียวกัน ก็ยอมเสียสตางค์แพงๆ เลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มาเติมเต็มทดแทน ส่วนที่ขาดหายไป …ถ้าคนไทยไม่รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนซ์ฟราย พิซซ่า แต่ยังคงกินน้ำพริกปลาทู ข้าวกล้อง ส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง แกงส้ม… โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เบาหวาน และอื่นๆ อีกมากมาย ก็ไม่น่าจะเจอในคนอายุน้อยๆ เหมือนที่พบมากในปัจจุบัน ที่สำคัญ เงินทองไม่รั่วไหล ออกนอกประเทศ จำนวนมหาศาลต่อปี

Junk Food ส่วนใหญ่ จะให้พลังงานที่ได้มาจาก ส่วนประกอบ 3 อันดับแรกคือ น้ำตาล ไขมัน และแป้ง ดังนั้น ต้องพิจารณาให้ดี อาหารสำเร็จรูปบางชนิด จะมีฉลากโภชนาการแจ้งให้ทราบ

อาหาร Junk Food ยอดนิยม ยังขาดสารอาหาร ที่มีความจำเป็นต่อการทำงาน ของร่างกายอยู่หลายชนิด และในทางตรงกันข้าม ก็มีพลังงานหรือสารอาหารบางตัว ที่ยังไม่สมดุลกับความต้องการ การดูแลสุขภาพร่างกาย ให้พร้อมสำหรับชีวิตประจำวัน เพื่อให้ร่างกายมีความสมบูรณ์ และแข็งแรงในรูปแบบง่ายๆ ซึ่งเราๆ ท่านๆ ท่องจำขึ้นใจ เป็นเสียงเดียวกันว่า หนึ่ง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สอง รับประทานอาหาร ให้ถูกหลักโภชนาการ และสาม พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถามว่ามีสักกี่คนที่ปฏิบัติทั้ง 3 ข้อนี้ได้อย่างแท้จริง



 ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร - www.pharm.su.ac.th

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อาหารกับอารมณ์

คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ ที่รู้สึกว่าหลังตื่นนอนตอนเช้า อารมณ์ไม่แจ่มใสอย่างที่ควรเป็น (ไม่นับอาการเบื่อเรียนหรือเบื่องาน) ทั้งๆ ที่นอนหลับเต็มอิ่ม ไม่เครียดหรือมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ บางครั้งรับประทานอาหารเช้าแล้วกลับทำให้ยิ่งหิวเร็ว หนำซ้ำช่วงสายก่อนเที่ยงมีอาการมือสั่น อ่อนเพลีย หรือบ่ายๆ หลังรับประทานอาหารกลางวัน ยิ่งอ่อนเพลีย ง่วงนอน เฉื่อยชายิ่งกว่าเดิม อาการแบบนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหาร ซึ่งอาหารกับอารมณ์นั้น เกี่ยวข้องกันชนิดที่คุณคาดไม่ถึงทีเดียว

แหล่งต้นเหตุของอาหารที่มีผลต่ออารมณ์

ในต่างประเทศมีงานวิจัยและบทความทางวิชาการศึกษา เกี่ยวกับบทบาทสารอาหารกับอารมณ์อยู่มากมายหลายชิ้น แต่บทความที่ได้รับรองอย่างเป็นทางการยังมีเพียงเล็กน้อย แต่ที่แน่ๆ ปัจจัยในร่างกายที่มีผลต่ออารมณ์ มาจาก 2 แหล่ง คือ อาหารและสารเคมีในสมอง

เริ่มจากอาหาร ที่ปกติเรารับประทาน 3 มื้อต่อวัน แต่ละมื้อประกอบด้วยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต คือ แป้งและน้ำตาลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย หลังจากรับประทานแล้ว ร่างกายจะค่อยๆ ย่อย เปลี่ยนให้เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เล็กลง และกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อร่างกายสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และนำไปใช้ตามอวัยวะต่างๆ ทั้งนี้ปริมาณและชนิดของคาร์โบไฮเดรตที่ต่างกัน ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงต่างกัน เช่นเดียวกับระดับน้ำตาลกลูโคสที่ได้จากอาหารแต่ละชนิด หรือที่เราเรียกว่า “ดัชนีน้ำตาล” ค่าดัชนีน้ำตาลแบ่งเป็น 3 ระดับ คืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง และอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง

การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงมากเท่าไร

คาร์โบไฮเดรตก็จะย่อยเป็นกลูโคส และถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ที่นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อ
เผาผลาญเป็นพลังงาน แต่หลังจากรับประทานไปได้ 2-4 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร่างกาย
อ่อนแรง อารมณ์เซื่องซึม ตัวอย่างอาหารดัชนีน้ำตาลสูง ได้แก่ ไอศกรีม ข้าวขาว ข้าวเหนียว มันฝรั่งบด ฯลฯ นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดอาจแปรปรวน ลดและเพิ่มอย่างรวดเร็วจากกรณีอื่นๆ อีก เช่น
     
    รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารประเภททอด ขนมขบเคี้ยวต่างๆ น้ำอัดลม เป็นต้น เพราะหลังจากรับประทานร่างกายจะรู้สึกหนัก อ่อนเพลียและง่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเช้าและอาหารกลางวัน ที่คนทำงานหลายคนมีอาการตาหนัก ลืมไม่ขึ้นเป็นประจำ
     
    เว้นระยะเวลาการรับประทานอาหารระหว่างมื้อนานเกินไป หรือออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดสัญญาณเตือน เช่น อาการปวดหัวหรือเหนื่อยล้า มือสั่น เหงื่อแตก
     
    ไม่รับประทานอาหารเช้า หรือใช้วิธีลดความอ้วนด้วยการงดอาหารบางมื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายต้องการพลังงานชดเชยมากขึ้นจากมื้อที่หายไป ส่งผลให้มื้อต่อๆ ไปรับประทานมากเกินได้ง่าย ส่วนปัจจัยที่มีผลต่ออารมณ์

ส่วนหนึ่งมาจากสารเคมีในสมอง ยกตัวอย่างเช่น
     
    เซอร์โรโทนิน (serotonin) ถ้าระดับเซอร์โรโทนินต่ำจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ และมีการศึกษาพบว่า หากได้รับอาหารที่ไม่มีกรดอะมิโนทริบโทเฟน (Tryptophan) โดยอาหารที่มีทริบโทเฟน เช่น นม กล้วย โยเกิร์ต ข้าวโอ๊ต ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์ เซอร์โรโทนินในสมอง จะทำให้การสร้างเซอร์โรโทนินลดลง ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ในบางคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ข้าวเหนียว ข้าวโพด กรอย เผือกหรือมัน จะเพิ่มการสร้างเซอร์โรโทนินทำให้อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งจะพบว่าคนบางคนเมื่อมีอาการซึมเศร้า จะอยากรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น (เศร้าแล้วก็เลยอ้วน)
     
    การขาดกรดโฟลิก จากการศึกษาในหนูทดลอง เมื่อขาดกรดโฟลิก ทำให้ระดับเซอร์โรโทนินในสมองลดลง ซึ่งคาดว่าถ้ามนุษย์ขาดสารโฟลิกก็จะมีอารมณ์ซึมเศร้า ไม่กระตือรือร้น อาหารที่มีกรดโฟลิก ได้แก่ บร็อกโคลี ถั่วลิสง ข้าวซ้อมมือ
     
    การขาดไทอะมิน (วิตามินบี1) ทำให้ซึมเศร้า อ่อนเพลีย เนื่องจากวิตามินบี1 มีบทบาท สำคัญในการเผาผลาญกลูโคสให้เป็นพลังงาน และสมองจำเป็นต้องใช้พลังงานจากกลูโคส ถ้าขาดวิตามินบี1 ก็จะมีผลเหมือนการขาดคาร์โบไฮเดรต อาหารที่มีไทอะมิน ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ปีก
     
    การขาดไนอะซิน ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง ก็มีผลต่ออารมณ์เช่นกัน คนที่ขาดวิตามินไนอะซินจะหงุดหงิด อารมณ์เสีย ถ้าขาดมากๆ ก็อาจจะถึงขั้นความจำเสื่อม ไนอะซินเป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญกลูโคสเช่นกัน การขาดไนอะซินนี้จะพบมากในกลุ่มคนที่รับประทานข้าวโพดเป็นอาหารหลัก ซึ่งในประเทศไทย ยังไม่พบการขาดวิตามินชนิดนี้ อาหารที่มีไนอะซิน ได้แก่ ไข่ เนื้อสัตว์ปีก ปลา ไทอะมินธัญพืชที่ไม่ขัดสี นม

รับประทานอาหารอย่างไรจึงทำให้อารมณ์ดีขึ้น

การปรับเปลี่ยนประเภทของอาหารเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแค่คุณ...
     
    รับประทานอาหารให้ครบมื้อ ถ้าไม่มีเวลารับประทานอาหารเป็นมื้อแบบกิจลักษณะ ควรเลือกของว่างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนมปังโฮลวีทสักแผ่นหรือ ขนมปังกรอบธัญพืชสัก 2-3 แผ่น อย่าปล่อยให้ท้องว่างเด็ดขาด หรือว่าจะแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ แต่รับประทานบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดตก
     
    รับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ผักและผลไม้ที่มีเส้นใยมาก และมีรสไม่หวาน เป็นต้น เพราะร่างกายจะค่อยๆ ย่อยและดูดซึมช้าๆ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ สม่ำเสมอ และหลังรับประทานอาหารได้ 4-6 ชั่วโมง ร่างกายจะหลั่งสารฮอร์โมนบางชนิดเพื่อสลายไกลโคเจน ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่สะสมอยู่ในร่างกาย และเพิ่มการสร้างกลูโคสจากแหล่งอาหารอื่น เช่น ไขมัน
     
    งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หันมาดื่มน้ำผลไม้คั้นสดหรือน้ำเปล่าธรรมดาแทน
     
    หมั่นออกกำลังกาย เนื่องจากหลังออกกำลังกายต่อเนื่องสัก 20 นาที ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแอนโดรฟีนออกมาตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้ปกระเปร่าและมีความสุข ลดความกังวลและเครียดลงได้

สรุปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและอารมณ์นี้ ยังมีความซับซ้อนอยู่มาก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป แต่ปราการป้องกันขั้นพื้นฐานไม่ให้อารมณ์หม่นหมอง ง่วงซึม ทุกครั้งที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร ก็ควรรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ครบมื้อพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและมีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ประกอบกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับรองว่าอาการเซื่องซึม ง่วงนอน อ่อนเพลียจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด



รศ.ดร.อรอนงค์ กังสดาลอำไพ
     
                   
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday